Web Analytics
No module Published on Offcanvas position

เปิดโลกการแปลงพันธ์ุพืชและสัตว์

วินาทีนี้ ข่าววิทยาศาสตร์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ เรื่องนักวิทยาศาสตร์ประเทศจีน ประสบความสำเร็จในการตัดต่อพันธุกรรมทารกสำเร็จจนเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก แต่ไม่ว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ รัฐบาลจีนได้สั่งทำการตรวจสอบและระงับโครงการดังกล่าวทันที โดยโครงการดังกล่าวอ้างว่า สามารถดัดแปลงพันธุกรรมทารกแฝดสาว ซึ่งมีบิดาติดเชื้อ HIV ผ่านเทคนิค CRISPR  ที่สามารถย้ายและทดแทนสายดีเอ็นเอได้อย่างแม่นยำ เพื่อป้องกันเด็กสาวแฝดทั้งสองจากเชื้อ HIV ได้

Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats (CRISPR) หรือคริสเปอร์ (ภาษาพูด) เป็นวงศ์หนึ่งในลำดับเบสดีเอ็นเอที่พบในเซลล์โปรคาริโอต เช่นแบคทีเรีย เป็นต้น ลำดับเบสบน CRISPR ได้จากดีเอ็นเอท่อนหนึ่งจากไวรัสที่ทำการโจมตีเซลล์แบคทีเรียเหล่านั้น ซึ่งแบคทีเรียจะใช้ลำดับเบสชิ้นส่วนนี้ในการตรวจจับและทำลายไวรัสที่คล้ายคลึงกันในอนาคต (เปรียบเหมือนการฉีดวัคซีนในมนุษย์นั่นเอง) ดังนั้น CRISPR จึงถูกเรียกว่าระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์โปรคาริโอตครับ

CRISPR associated protein 9  (Cas9) หรือแคส 9 (ภาษาพูด) เป็นเอนไซม์ (Enzyme) ตัดสายดีเอ็นเอ ที่เป็นที่รู้จักกันมากในงานวิจัยตอนนี้  Cas9 สามารถตัดสายดีเอ็นเอได้ โดยไม่ต้องอาศัยโปรตีนหรือสารอื่นๆ ในกระบวนการ 

CRISPR/Cas9 จึงเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีในการปรับเปลียนยีนในสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน ระบบ CRISPR/Cas9 ถูกปรับแต่งเพื่อแก้ไขยีนส์ สามารถตัดยีนส์ในตำแหน่งที่ต้องการ โดยการส่ง Cas 9 นิวคลีเอส ซึ่งประกอบกับไกด์อาร์เอ็นเอ (guide RNA, gRNA) เข้าไปในเซลล์ ทำให้สามารถกำจัดยีนที่มีอยู่หรือเพิ่มยีนใหม่เข้าไปได้

และจากเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน ใช้ CRISPR/Cas9 ทำการตัดยีนส์ CCR5 ซึ่งไวรัส HIV จะใช้ CCR5 นี่แหละเป็นช่องทางเข้าโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ทำให้เกิดการติดเชื้อ HIV ครับ 

ลู่ลู่ และ น่าน่า ชื่อของเด็กสาวฝาแฝดทั้งสอง ซึ่งถือกำเนิดจากการผสมเทียมแบบหลอดแก้ว แต่ใช้ไข่ที่ใช้การปรับแต่งพันธุกรรมก่อนจะถูกสอดเข้ามดลูก “ทันทีที่ผสมอสุจิของสามีฝ่ายหญิงเข้าไปในไข่ นักวิทยาเอ็มบริโอก็ได้ใส่โปรตีน CRISPR/Cas9 เข้าไปด้วยและได้ทำการผ่าตัดยีนที่เพื่อปกป้องเด็กหญิงทั้งสองจากการติดเชื้อเอชไอวีในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การใช้เทคโนโลยี CRISPR/Cas9 ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเป็นครั้งแรก โดยเมื่อปี 2558 ได้ทำการทดลองกับตัวอ่อนของคนสำหรับรักษาโรคทางพันธุกรรม ซึ่งสะเทือนวงการเป็นอย่างมาก รวมถึงการกังวลด้านจริยธรรมสำหรับการทดลองในมนุษย์ 

อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม 

พืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ Genetically Modified Food (GMF) หมายถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือแปรรูปจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม เช่น เต้าหู้ที่ผลิตจากถั่วเหลืองGMOs  เป็นต้น 

จากการศึกษาพบว่า มีผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูปไม่น้อยกว่า 3000 ชนิด ที่ใช้วัตถุดิบหรือมีส่วนประกอบในวัตถุดิบเกี่ยวข้องกับGMOs ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมแทบทุกชนิดของอาหารรวมทั้งอาหารหลักในแต่ละมื้อ เครื่องดื่ม อาหารเด็ก ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์อีกนานับชนิด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่สามารถกำหนดขอบเขตได้ชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใดบ้าง ผลิตภัณฑ์บางชนิดแปรรูปไปจากสภาพเดิมมาก เช่น ชอคโกแล็ต ลูกกวาด 

สำหรับประเทศไทยวัตถุดิบต้นทางที่สำคัญที่เป็นพืช GMOs ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ และมะละกอ ทั้งหมดจัดเป็นพืชในกลุ่มแรกๆที่จะต้องจับตามอง ผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูป หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบต้นทางเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ที่มีศักยภาพสูง จะช่วยแก้ปัญหาการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนไม่พอเพียงได้ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะความไม่มั่นใจว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะใช้เป็นอาหารที่มีความปลอดภัยเหมือนกับอาหารธรรมชาติหรือไม่ แม้ในอดีตขั้นตอนการอนุญาตให้มีการผลิตพืชเหล่านี้เป็นการค้าได้มีการวิเคราะห์องค์ประกอบเปรียบเทียบ ศึกษาความเหมือนทางเคมี ศึกษาผลกระทบโดยตรงต่อยีนเป้าหมายทั้งในแง่ความปลอดภัยในการบริโภคเบื้องต้น ปริมาณที่ปรากฏถึงระดับอันตราย และการย่อยสลายในสิ่งมีชีวิต แต่งานทดลองส่วนใหญ่ยังไม่ครอบคลุมถึงความปลอดภัยในการนำผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ในระยะยาว โดยเฉพาะความปลอดภัยในการใช้เป็นอาหารและความปลอดภัยสำหรับสภาพแวดล้อม

 กรณีศึกษา

ได้มีการตัดต่อยีนโปรตีนซึ่งมีพิษต่อแมลง ในถั่วเหลืองและข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรม เป็นที่น่าสนใจว่าแมลงที่มารบกวนได้ตายลงเพียงไม่กี่วัน และกระทบต่อห่วงโซ่อาหารสำหรับสัตว์ที่ทานแมลงเหล่านั้นด้วย จากการประเมินผลกระทบ ยังคงเป็นปริศนาว่า แม้ FDA จะระบุว่าโปรตีนพิษดังกล่าว ไม่ส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่อย่างไรก็ตามต้องอาศัยระยะเวลาอีกนานเพื่อศึกษาผลกระทบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลหลายประเทศไม่ยอมรับการมีอยู่ของ GMOs และ GMF

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับเนื้อหาสนุกๆ เบาสมองแต่มีสาระชวนให้คิด วันนี้แอดมินลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะครับ บ๊ายบาย

 

Pongsagon Pothavorn