RoHS มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม
เวลาเลือกดูสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือใน Datasheet ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ คงจะเคยเห็นสัญลักษณ์วงกลม ที่มีตัวอักษร “Pb” แล้วคาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีเขียนคำว่า “RoHS Compliant” หรือจะเขียนว่า “Pb-Free”, “Green” หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นหมายความว่าอุปกรณ์เหล่านั้น ผ่านตามข้อกำหนดที่เรียกว่า “RoHS” (สัญลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน เนื่องจากไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นทางการ)
RoHS ย่อมาจาก Restriction of Hazardous Substances เป็นข้อกำหนดที่ 2002/95/EC ของสหภาพยุโรป (EU) ว่าด้วยเรื่องของการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหมายความรวมถึงเครื่องใช้ทุกชนิด ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าในการทำงาน เช่น โทรทัศน์ เตาอบไมโครเวฟ วิทยุ เป็นต้นซึ่งหมายความว่า ชิ้นส่วนทุกอย่างที่ประกอบเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ตั้งแต่แผงวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสายไฟ จะต้องผ่านตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยสารที่จำกัดปริมาณในปัจจุบัน กำหนดไว้ 6 ชนิด ดังนี้
1.ตะกั่ว (Pb) ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก
2.ปรอท (Hg) ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก
3.แคดเมียม (Cd) ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนัก
4.เฮกซะวาเลนท์ (Cr-VI) ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก
5.โพลีโบรมิเนต ไบเฟนนิลส์ (PBB) ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก
6.โพลีโบรมิเนต ไดเฟนนิล อีเธอร์ (PBDE) ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก
อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นสำหรับอุปกรณ์บางอย่าง ที่ยังไม่สามารถใช้สารอื่นมาทดแทนได้ หรือสารที่ใช้ทดแทนมีอันตรายมากกว่า เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ ตะกั่วในเหล็กอัลลอย นอกจากนี้ เครื่องมือด้านการแพทย์ และการทหาร ก็อยู่ในข้อยกเว้น
RoHS มีผลกับใครบ้าง ?
RoHS เป็นข้อกำหนดที่บังคับใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ซื้อขายในสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี2006 แต่ในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ก็เริ่มที่จะกำหนดข้อบังคับในลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายดังกล่าว ก็ควรจะเริ่มศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อกำหนดนี้ให้มากขึ้น เพราะในอนาคต ข้อกำหนดนี้ก็คงจะแผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก
สินค้าประเภทใดบ้างที่อยู่ในข้อกำหนดของ RoHS
ประเทศสมาชิก EU สามารถที่จะกำหนดมาตรการและวิธีการดำเนินการในลักษณะต่างๆของประเทศตนได้ แต่จะต้องเป็นมาตรการที่ส่งผลให้เกิดตามระเบียบที่กำหนดไว้ โดยมีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเภท ทั้งที่ใช้ภายในบ้าน และในอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในตลาด EU โดยจำแนกประเภทไว้ 10 ประเภท ดังนี้
- เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดใหญ่ เช่นเครื่องซักผ้า ตู้เย็น
- เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านขนาดเล็ก เช่น ที่เป่าผม
- อุปกรณ์สื่อสารและสารสนเทศ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องคำนวณ เครื่องโทรสาร เป็นต้น
- เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี เป็นต้น
- อุปกรณ์แสงสว่าง เช่น หลอดฟลูโอเรสเซนต์ หลอดโซเดียม เป็นต้น
- เครื่องมือไฟฟ้า เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า เป็นต้น
- ของเล่นและอุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า เช่น วีดีโอเกมส์ ลู่วิ่งไฟฟ้า เป็นต้น
- อุปกรณ์การแพทย์ เช่น อุปกรณ์ทางรังสีวิทยาแบบต่างๆ เป็นต้น
- อุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ เช่น เทอร์โมสตัด แผงควบคุมต่างๆ เป็นต้น
- เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น เครื่อง ATM เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง เป็นต้น
การเลือกใช้อุปกรณ์ Pb-Free
สำหรับนักอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นผู้ออกแบบวงจร สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free หรือ RoHS ได้ โดยผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกยี่ห้อ มักจะผลิตอุปกรณ์รุ่นที่เป็น Pb-Free ออกมาทดแทนอุปกรณ์รุ่นเก่า โดยอาจจะเพิ่มตัวอักษรเช่น ‘G’ เข้าไปใน Part Number แต่ยังคงมีมีฟังก์ชันการทำงานเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ สิ่งที่แตกต่างจากเดิมก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถทนความร้อนสูงที่ใช้ในกระบวนการประกอบแผงวงจรได้ เนื่องจากสารที่ใช้เชื่อม (ตะกั่ว) ที่เป็นแบบ Pb-Free นี้ จะมีจุดหลอมเหลวที่สูงขึ้นกว่าแบบที่ไม่เป็น Pb-Free แต่สำหรับท่านที่ซื้ออุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free มาแล้ว แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่านข้อกำหนดดังกล่าว สามารถบัดกรีด้วยตะกั่วแบบธรรมดาได้ ซึ่งจะบัดกรีง่าย และสวยงามกว่า เนื่องจากตะกั่วธรรมดาจะละลายง่าย และมีความเงางามมากกว่าตะกั่วแบบ Pb-Free
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการพูดถึงข้อกำหนดในลักษณะนี้มากนัก ดังนั้น หากท่านไม่ได้เป็นผู้ออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าไปขายในต่างประเทศ ก็ยังไม่ต้องวิตกกังวล แต่ก็ควรจะศึกษาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อและใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตอุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free ก็คงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และทดแทนอุปกรณ์แบบเก่าจนหมดไป
การตรวจวิเคราะห์ RoHS ในห้องปฏิบัติการนั้น แม้ว่าจะสามารถทำได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ แต่ต้องแลกด้วยกระบวนการเตรียมตัวอย่างที่ซับซ้อน ทำลายตัวอย่างและอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ในปัจจุบันมีอีกหนึ่งเทคนิคที่นิยมใช้วิเคราะห์ในงาน RoHS มากขึ้นนั่นคือเทคนิคการวัดด้วยรังสีเอ็กซ์ แบบเอ็กซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นที่สามารถพกพา และมีขนาดช่องวัด (Spot Size) ที่เล็กระดับมิลลิเมตร เพื่อสามารถวัดเฉพาะจุดที่ต้องการได้นั่นเอง จึงทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังไม่ทำลายตัวอย่าง และสามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น
การใช้งานเครื่องวิเคราะห์ด้วยรังสีเอ็กซ์แบบเอ็กซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ชนิดพกพา ในงานด้านอื่นๆ สามารถศึกษาได้ที่ https://www.scispec.co.th/portfolio_XRF.html