Web Analytics
No module Published on Offcanvas position

สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) คืออะไร

 

สารอินทรีย์ระเหยง่าย คืออะไร 

          เมื่อกล่าวถึง สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds) หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า สาร VOCs หลายคนอาจไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย แต่ทราบหรือไม่ว่าเราพบสาร VOCs ได้ในการชีวิตประจำวันทั่วไปเช่น สีทาบ้าน ควันบุหรี่ ตัวทำละลายของหมึกพิมพ์ อู่พ่นสีรถยนต์ น้ำยาฟอกสี น้ำยาซักแห้ง น้ำยาย้อมผม ควันรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือการเผาไหม้ต่างๆ เป็นต้น 

          สาร VOCs ที่อยู่รอบตัวเรานั้นเป็นสารเคมีที่มีอะตอมของธาตุคาร์บอนและธาตุไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลักและอาจมีอะตอมของธาตุอื่นๆ เช่น คลอไรด์ ออกซิเจน ฟลูออไรด์ โบรไมต์ ซัลเฟอร์ หรือ ไนโตรเจนประกอบด้วย  สาร VOCs จะมีคุณสมบัติการระเหยกลายเป็นไอได้ง่าย  จึงส่งผลทำให้สาร VOCs ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเกิดเป็นมลพิษและส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย

 

สาร VOCs สามารถแบ่งได้ 2 ชนิดตามองค์ประกอบ ได้แก่

          1) กลุ่ม Non-halogenated hydrocarbon หรือ Non- Chlorinated VOCs เป็นกลุ่มที่ไม่มีอะตอมของธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบ โดยมากมากจากสิ่งแวดล้อม การเผาไหม้กองขยะ พลาสติก วัสดุ ตัวทำละลาย สีทาวัสดุต่างๆ เป็นต้น ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเช่น นักดับเพลิง คนงานเผาขยะ คนเผาถ่าน จึงมักป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเนื่องจากได้รับสาร VOCs เป็นประจำ ตัวอย่างสารกลุ่มนี้ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซโซลีน เฮกเซน แอลกอฮอล์ แอลดีไฮด์ คีโตน โทลูอีน เบนซีน เอทิลเบนซีน ไซลีน ฟีนอล เป็นต้น

          2) กลุ่ม Halogenated hydrocarbon หรือ Chlorinated VOCs เป็นกลุ่มที่มีอะตอมของธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบ โดยมากเป็นสารสังเคราะห์มีความเป็นพิษและมีความเสถียรในสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารกลุ่มแรก จึงยากต่อการสลายตัวทำให้เกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อมในปริมาณมาก

 

ผลกระทบของสาร VOCs ต่อสุขภาพมนุษย์

          สาร VOCs สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ 3 ทางคือ ทางการหายใจ  การรับประทาน  และการสัมผัสทางผิวหนัง เมื่อสาร VOCs เข้าสู่ร่างกายแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแตกต่างกันตามชนิดของ VOCs ดังตัวอย่าง เช่น

         

          -เบนซีน (Benzene) หากรับประทานหรือสูดดมโดยตรงจะก่อให้เกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางและอาจเสียชีวิตได้ แต่ถ้าหากสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดพิษต่อระบบเลือด ระบบภูมิคุ้มกันและเนื้องอกซึ่งสัมพันธ์กับโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น

          -ไวนิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride) เกิดพิษเฉียบพลันต่อตับ ปอด ไต หัวใจ และส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัวหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หากสูดดมปริมาณน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำลายเส้นประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน

          -1,2-ไดคลอโรอีเธน (1,2-Dichloroethane)  เกิดพิษเฉียบพลันต่อระบบประสาท ตับ ไต ก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้

          -ไตรคลอโรเอทิลลีน (Trichloroethylene) หากสูดดมปริมาณจะทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้  เป็นพิษต่อตับและไต รวมถึงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ  หากได้รับสะสมเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งและมีผลกระทบต่อระบบสืบพันธ์

-ไดคลอโรมีเธน (Dichloromethane) หากสูดดมจะก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันส่งผลให้หมดสติ

          -1,2-ไดคลอโรโพรเพน (1,2-Dichloropropane) ก่อให้เกิดอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ ทำลายตับ ไต และส่งผลให้เสียชีวิตได้  หากสูดดมเป็นระยะเวลานานจะทำลายตับ ไต และระบบหายใจ

          -เตตระคลอโรเอทธิลีน (Tetrachloroethylene) เกิดพิษเฉียบพลันส่งผลทำให้เวียนศรีษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ พูดหรือเดินลำบาก หมดสติและเสียชีวิตได้  หากสูดดมเป็นระยะเวลานานๆ จะทำลายตับ เปต และก่อให้เกิดมะเร็งได้  และอาจจก่อให้เกิดการแท้งบุตรอีกด้วย

          -คลอโรฟอร์ม (Chloroform) เป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ตับ และไต หากได้รับในปริมาณสูงทำให้อ่อนเพลีย เวียนศรีษะ และหากได้รับปริมาณต่ำติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำลายการทำงานของตับและไต

          -1,3-บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) หากสัมผัสโดยตรงก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือหากสัมผัสในปริมาณที่สูงมาก ก่อให้เกิดอาการมึนเมาและเสียชีวิตได้ ในกรณีสัมผัสหรือสูดดมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดพิษต่อระบบเลือด ปอด และก่อให้เกิดมะเร็งได้

          -คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon Tetrachloride) การสูดดมก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและอาจทำให้หมดสติได้ สารนี้มีพิษต่อตับ ไต ผิวหนัง ปอด ดวงตา ระบบประสาทส่วนกลางและอาจก่อให้เกิดมะเร็ง อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธ์อีกด้วย

          -อะซิทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เวียนศรีษะ เมื่อยล้า เซื่องซึมและอาจทำให้หมดสติ

          -อะครอลีน (Acrolein) ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ หายใจติดขัด หากรับปริมาณมากจะทำให้ปอดถูกทำลายและถึงแก่ชีวิตได้ หากกลืนเข้าไปจะเกิดพิษเฉียบพลันต่อระบบทางเดินอาหารและถึงแก่ชีวิต

          -เบนซิลคลอไรด์ (Benzyl Chloride) เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ทำลายเยื่อเมือกอย่างรุนแรง เกิดการอักเสบและบวมน้ำของกล่องเสียงและหลอดลมใหญ่ หากกลืนเข้าไปจะก่อให้เกิดแผลไหม้ทางเดินอาหารและส่งผลให้เกิดอัมพาตได้

 

          จากตัวอย่างสาร VOCs พบว่า สาร VOCs มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของสาร ปริมาณที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ สภาพของร่างกาย และปัจจัยอื่นๆ โดยสาร VOCs บางชนิดหากได้รับในปริมาณมากทำให้เกิดการทำลายระบบประสาทส่วนกลาง คือไปกดประสาทส่วนกลางโดยอาจจะเกิดอาการทันที ทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้ เรียกว่าการ เกิดพิษเฉียบพลัน และในกรณีที่ได้รับสาร VOCs ปริมาณน้อยแต่ได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดเกิดมะเร็งหรือเกิดการเสื่อมของเนื้อเยื่ออวัยวะภายในได้ เรียกการ เกิดพิษเรื้อรัง

 

           สาร VOCs ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงได้ทั้งพิษเฉียบพลันและเรื้อรังโดยเป็นการเกิดพิษโดยตรงจากสาร VOCs  นอกจากนี้ สาร VOCs ที่ปนเปื้อนในอากาศยังสามารถเกิดปฏิกิริยากับแก๊สไนโตรเจนออกไซค์ (Nitrogen oxide, NO2) และออกซิเจน (Oxygen, O2) โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาจะได้สารประกอบของ peroxyacetyl nitrate (CH3CO-OO-O2) ซึ่งเป็นสารพิษมีฤทธิ์ระคายเคือง เรียกปฏิกิริยานี้ว่า Peroxyacetyl nitrate (PAN) ซึ่งเป็น การเกิดพิษโดยอ้อมของสาร VOCs ด้วยเหตุนี้เองสาร VOCs ที่ปนเปื้อนในอากาศ จึงมีกฏหมายเพื่อการควบคุมและเฝ้าระวัง โดยในประเทศไทย กรมควมคุมมลพิษ ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับสาร VOCs ในอากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี และค่าเฝ้าระวังสำหรับสาร VOCs โดยทั่วไปในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากสาร VOCs โดยสามารถติดตามการรายงานการตรวจติดตามได้ที่เว็ปไซค์ของกรมควบคุมมลพิษ https://www.pcd.go.th/

 

         ตอนนี้เรารู้จักสาร VOCs มากขึ้นแล้ว  รู้ถึงอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพแล้วถ้าอยากรู้ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าสาร VOCs ที่อยู่รอบตัวเรามีปริมาณมากหรือน้อย  เก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ได้อย่างไร มีวิธีการวิเคราะห์อย่างไร

 

อย่าลิม ติดตามต่อตอนหน้านะคะ

ขอบคุณค่ะsmile

 

 

 

Ratimarth Boonlorm