จากบทความ “สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) คืออะไร” ทำให้รู้จักกับสาร VOCs มากขึ้นทั้งแหล่งที่มาและผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ ในบทความนี้จะกล่าวถึงค่ามาตรฐานของสาร VOCs ที่ตรวจวัดในบรรยากาศโดยทั่วไปว่าปริมาณที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์อยู่ในเกณฑ์เท่าไรโดยค่ามาตรฐานนี้กำหนด ควบคุมและเฝ้าระวังโดย “กรมควบคุมมลพิษ”
มาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี แสดงดังตารางที่ 1
(ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ เข้าถึงวันที่ 25 ม.ค. 2564)
มาตรฐานค่าเฝ้าระวังสำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 24 ชั่วโมง แสดงดังตารางที่ 2
(ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ เข้าถึงวันที่ 25 ม.ค. 2564)
เนื่องจากปริมาณสาร VOCs ที่ปนเปื้อนในอากาศโดยทั่วไปมีปริมาณน้อยและมีปริมาณเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น ณ บริเวณนั้นๆ การตรวจวิเคราะห์สาร VOCs เพื่อควบคุมและเฝ้าระวังจึงเป็นรายงานเป็นปริมาณในเวลา 1 ปี หรือ 24 ชั่วโมงโดยอ้างอิงวิธีการวิเคราะห์ตามวิธีมาตรฐานขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency หรือ U.S. EPA) Method TO-14A หรือ Method TO-15 ซึ่งเป็นวิธีตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟีที่ทำการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
สำหรับวิธีการเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อนำไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการนั้นตามวิธี U.S. EPA Method TO-14A หรือ U.S. EPA Method TO-15 ทำได้โดยการใช้ถังเก็บตัวอย่างอากาศ (Canister) แล้วนำกลับมาวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ
รูปแสดงถังเก็บตัวอย่างอากาศ (Canister)
เมื่อนำถังเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการนั้น ก่อนที่จะนำตัวอย่างเข้าสู่ระบบแก๊สโครมาโทกราฟี (GC) หรือ แก๊สโครมาโทกราฟฟีแมสสเปคโตรเมตรี GC-MS จะต้องมีระบบเทอร์มอลดีซอร์บชัน(Thermal Desorption; TD) ช่วยในขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างก่อน เนื่องจากปริมาณสาร VOCs ในตัวอย่างอากาศมีปริมาณน้อยมากและยังมีความชื้นปะปนอยู่ซึ่งอาจส่งผลต่อความไวในการวิเคราะห์ ดังนั้นการเชื่อมต่อด้วยระบบ TD จะทำให้สามารถกำจัดความชื้นและเพิ่มความเข้มข้นของสาร VOCs ก่อนเข้าสู่ระบบ GC หรือ GC-MS ได้
ที่มา: https://markes.com
ระบบการวิเคราะห์สาร VOCs ในอากาศตามวิธีมาตรฐาน U.S. EPA method TO15
สำหรับระบบ TD ซึ่งเป็นระบบการเตรียมตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ร่วมกับเทคนิค GC หรือ GC-MS นั้น เป็นระบบที่ช่วยกำจัดความชื้นและเพิ่มความเข้มข้นของสาร VOCs ในตัวอย่างอากาศโดยมีขั้นตอนดังนี้
1) ตัวอย่างอากาศผ่านระบบกำจัดความชื้น
2) ตัวอย่างอากาศที่ไม่มีความชื้นเข้าสู่ตัวดูดซับ (Focusing trap) ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อสาร VOCs
3) ให้ความร้อนกับตัวดูดซับนั้นเพื่อชะสาร VOCs เข้าสู่ระบบ GC หรือ GC-MS ต่อไป
ที่มา: https://markes.com
รูปแสดงการทำงานของระบบการเตรียมตัวอย่างอากาศของเทคนิค TD
นอกเหนือจากการเก็บตัวอย่างอากาศด้วยถังเก็บตัวอย่างอากาศแล้ว ยังใช้วิธีการเก็บตัวอย่างอากาศ หรือ ตัวอย่างอื่นๆเพื่อวิเคราะห์สาร VOCs ได้ด้วยวิธีอื่นๆ หลากหลายวิธี (เพิ่มเติม https://bit.ly/36b4k8t) เช่นการใช้หลอดเก็บตัวอย่าง (Sample Tube) การใช้ถุงเก็บอากาศ (Sample bag) หรือการวิเคราะห์แบบทันท่วงที (Online analysis)
สำหรับระบบการวิเคราะห์สาร VOCs แบบทันท่วงที สามารถทำได้อย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร อย่าลิม!!! ติดตามต่อตอนหน้านะคะ ขอบคุณค่ะ