Web Analytics
No module Published on Offcanvas position

วิธีตรวจสอบวิสกี้ด้วย Orbitrap Exploris GC 240 ร่วมกับ SPME Arrow

 

     ในสกอตแลนด์ วิสกี้เป็นเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลคริสต์มาส วิสกี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีการผลิตที่มีคุณภาพสูงอย่างพิถีพิถัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการวิสกี้ระดับพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดปัญหาการปลอมปน ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายสำหรับทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ในบทความนี้เราจะพูดถึงปัญหาการปลอมปนวิสกี้ และสำรวจเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยตรวจสอบความแท้ของวิสกี้ โดยเฉพาะเครื่องแมสสเปคโตรมิเตอร์จาก Thermo Scientific Orbitrap™ รุ่น Exploris™ GC 240.

 

การปลอมปนวิสกี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพและความแท้ของวิสกี้

  1. การสร้างวิสกี้เทียม: วิธีนี้ใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อเลียนแบบรสชาติและกลิ่นของวิสกี้แท้ แต่ไม่มีการควบคุมคุณภาพและปริมาณสารเคมีที่ใช้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
  2. การติดฉลากผิดและการกล่าวอ้างอายุการบ่มที่เป็นเท็จ: ขวดวิสกี้อาจถูกติดฉลากปลอมให้ดูเหมือนวิสกี้แบรนด์ดังหรือระบุอายุการบ่มที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้สีสังเคราะห์หรือการเร่งกระบวนการบ่มด้วยความร้อน เพื่อให้ดูเหมือนวิสกี้บ่มนาน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ผ่านการบ่มตามธรรมชาติ

 

          การแยกแยะวิสกี้ผสมราคาประหยัดจากซิงเกิลมอลต์ที่บ่มอย่างแท้จริงอาจทำได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถบอกได้ว่าวิสกี้ขวดหนึ่งถูกบ่มมานานแค่ไหน (นอกจากราคาที่สูงขึ้น) ทำให้มิจฉาชีพมักจะปลอมแปลงวิสกี้เพื่อหวังผลกำไร เพื่อตรวจสอบหาการปลอมปนวิสกี้ที่ท้าทาย จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง เช่น เครื่องแมสสเปคมิเตอร์ รุ่น Orbitrap Exploris GC 240 ซึ่งทำงานร่วมกับเทคนิคการสกัด SPME Arrow รุ่น TriPlus RSH SMART Autosampler จากผู้ผลิตบริษัท Thermo Scientific เทคนิคนี้ช่วยให้สามารถวิเคราะห์และระบุลักษณะของวิสกี้ได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำ

 

กระบวนการทำงานในการวิเคราะห์วิสกี้ด้วยเครื่อง Orbitrap Exploris GC 240

  1. การเตรียมตัวอย่าง: ตัวอย่างวิสกี้ (100 µl) จะถูกผสมกับน้ำ (900 µl) และทำให้ร้อน จากนั้นใช้ SPME Arrow ในการเก็บตัวอย่างเพื่อสกัดสารระเหยอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การวิเคราะห์ทางเคมี: ตัวอย่างจะถูกวิเคราะห์ด้วย EI ใช้โหมด full scan โดยอาศัยความสามารถในการแยกมวลได้ถึง 240,000 และให้ข้อมูลมวลที่ละเอียดและแม่นยำ ช่วยในการตรวจจับความแตกต่างทางเคมีในวิสกี้แต่ละตัวอย่าง
  3. การวิเคราะห์ข้อมูล: ข้อมูลที่ได้จะถูกประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์ Thermo Scientific Compound Discoverer ซึ่งมีฐานข้อมูลสารที่แม่นยำในการระบุรสชาติและกลิ่น ช่วยให้สามารถระบุสารและเปรียบเทียบระหว่างตัวอย่างได้.

 

 

รูปที่ 1 แสดงกระบวนการทำงานจากซ้ายไปขวา โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลในโหมด full scan จากนั้นจะทำการตรวจจับพีค
และระบุส่วนประกอบเฉพาะในตัวอย่าง ก่อนที่จะสามารถระบุสารประกอบที่อยู่ในตัวอย่างวิสกี้ได้

 

          การศึกษานี้ใช้การวิเคราะห์ PCA (Principal Component Analysis) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างทางเคมีระหว่างตัวอย่างวิสกี้ที่มีอายุต่างกัน โดยพบว่ามีความแตกต่างชัดเจนในส่วนประกอบของวิสกี้แต่ละตัว อย่างเช่น ระหว่างตัวอย่าง 2 และ 3 พบว่า ตัวอย่าง 2 มีสารประกอบบางชนิด เช่น 2,3 – methyl-1-butanol และ Furfural ในปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งสารเหล่านี้มักพบในวิสกี้สก็อตแบบมอลต์ที่บ่มนาน ดังนั้น ตัวอย่าง 2 น่าจะเป็นวิสกี้ที่ผ่านกระบวนการบ่มจริง ในขณะที่ตัวอย่าง 3 อาจจะไม่ได้ผ่านการบ่มตามธรรมชาติ.

 

รูปที่ 2 แสดงกราฟการโหลดของการวิเคราะห์ส่วนประกอบหลัก (PCA Loading Plot) ของตัวอย่างวิสกี้ ซึ่งแสดงลักษณะทางเคมีที่ระบุจากซอฟต์แวร์ Compound Discoverer
กราฟนี้ช่วยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารประกอบในตัวอย่างวิสกี้แต่ละตัว โดยการจัดเรียงสารตามลักษณะทางเคมีที่สำคัญ

 

           การปลอมปนวิสกี้เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะวิสกี้ระดับพรีเมียมที่ได้รับความนิยมสูง การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเช่นเครื่องแมสสเปคโตรมิเตอร์ รุ่น Orbitrap Exploris GC 240 ร่วมกับการสกัดด้วย SPME Arrow ช่วยให้สามารถระบุความแตกต่างทางเคมีในตัวอย่างวิสกี้ได้อย่างแม่นยำ การวิเคราะห์นี้สามารถแยกแยะระหว่างวิสกี้ที่ผ่านการบ่มจริงและวิสกี้ปลอมที่มีการปรับเปลี่ยนรสชาติและกลิ่นด้วยสารเคมีเทียม เทคนิคเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยในการตรวจจับการปลอมปน แต่ยังสามารถป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวงจากวิสกี้ที่ไม่ได้มาตรฐาน

Kanokwan Buranabureedech